NEWS-thansettakij

13 August 2024

สมาคมส่งเสริม การรับช่วงการผลิตไทย หรือ Thai Subcon น่าจับตามองอีกครั้ง หลังได้มือดีอย่างนายชนินทร์ ขาวจันทร์ อดีตรองเลขาธิการบีโอไอ มานั่งเก้าอี้นายกสมาคมฯคนใหม่ ซึ่งสมาชิกมองว่ามาถูกที่ ถูกเวลา และมีความคาดหวังจะช่วยได้มาก

ทั้งนี้ “ชนินทร์  ขาวจันทร์” เป็นหนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ บีโอไอในงานพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (BUILD) ในฐานะสื่อกลางการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปกับผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต

ล่าสุดพร้อมเปิดมุมมอง ในบทบาทใหม่กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงทิศทางของ Thai Subcon นับจากนี้ รวมถึงจะนำพาสมาชิกเชื่อมโยงตลาดได้มากขึ้นอย่างไร น่าติดตาม

  • ดันเพิ่มทักษะรับเทคโนฯใหม่

นายชนินทร์ กล่าวว่า ทิศทางของ Thai Subcon จำเป็นต้องขยายความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรของสมาชิกให้มีทักษะในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น AI เป็นต้น รวมถึงการนำแนวคิด ESG (Environment, Social, และ Governance) มาให้สมาชิกศึกษานำไปใช้ ให้สามารถนำพาตนเองไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่มีการเติบโตได้ดี

การปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มผลิตภาพโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ทำวิจัยและพัฒนา และแสวงหาโอกาสตลาดจากอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และจากต่างประเทศมากขึ้น โดยการสร้างเครือข่ายหน่วยงานเพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการพัฒนาต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตที่ยั่งยืนให้แก่สมาชิก

“สมาชิก Thai Subcon ส่วนใหญ่มีรายได้จากการผลิตให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในภาวะยํ่าแย่ตามภาวะเศรษฐกิจไทย และความต้องการในตลาดโลกที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจตกตํ่า”

ดังนั้นในระยะปัจจุบันและมองไปข้างหน้า Thai Subcon จะต้องนำพาสมาชิกไปหาโอกาสในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถเติบโตหรืออุตสาหกรรมเดิมที่ยังเติบโตต่อไปได้ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเครื่องจักรอุปกรณ์ อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ เป็นต้น นั่นคือสมาชิกจะต้องทำการปรับตัวโดยการพัฒนาขีดความสามารถและความรู้ตนเอง

“ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเพราะขาดการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะรองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อนำมาใช้ในกิจการ เพิ่มความสามารถไปสู่อุตสาหกรรมที่มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น การมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมไทย รวมถึงกำลังคนที่จะจบการศึกษาใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย”

ปัจจุบัน Thai Subcon มีสมาชิกจำนวน 491 ราย มีการจ้างงานรวมประมาณ 80,000 คน มีมูลค่ายอดขายต่อปีรวมกันประมาณ 2 แสนล้านบาท มีทั้งรายที่มีรายได้เติบโตมากขึ้น และรายที่มีรายได้ลดลง ตามแต่ละอุตสาหกรรมที่ผลิตส่ง ช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์มีจำนวนผลิตลดลง แต่มีเครื่องจักรกลการเกษตรที่เพิ่มขึ้น มาชดเชยรายได้แทนกันได้ในบางราย

  • เปิดต้นเหตุยอดขายรถร่วง

นายชนินทร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ามองอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่เป็นรายได้หลักของสมาชิก Thai Subcon จะเห็นว่าในปัจจุบันรถยนต์มียอดจำหน่ายในประเทศลดลงอย่างมาก ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าล้วน( BEV) มียอดจำหน่ายเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้หลายคนคิดว่า ยอดจำหน่ายที่ลดลงอย่างมากของรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) เป็นเพราะรถไฟฟ้ามาแทนที่

แต่ความเป็นจริงรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาจำหน่ายในไทยมีจำนวน 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ของยอดขายรถทั้งหมด จึงไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ในไทยลดลงอย่างมากในปัจจุบัน แต่สาเหตุหลักคือ ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ไม่ดี คนมีรายได้ลดลง มีค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคและอื่น ๆ เพิ่มขึ้น

เห็นได้จากจำนวนคนมีหนี้ครัวเรือนที่ไม่ดีมีมากขึ้น ยอดรถยนต์ถูกยึดมีมากขึ้น สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อซื้อรถยนต์ ทราบว่ามากกว่า 50% ของคำขอกู้เงินซื้อรถถูกปฏิเสธ เศรษฐกิจที่แย่ตอนนี้สาเหตุหลักมาจากเงินลงทุนของรัฐบาลปี 2567 ที่ออกมาล่าช้า 7-8 เดือน เงินหลายแสนล้านบาทไม่ออกมาเพื่อเกิดการซื้อขายหมุนเวียน จะเห็นว่ายอดขายรถที่ตกมาก ๆ คือ รถปิกอัพ

“จากปัจจัยข้างต้น อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สมาชิกบางรายถอดใจออกจากสมาคม แต่เราจะพยายามช่วยเหลือโดยหาโอกาสตลาดอุตสาหกรรมอื่น ๆ มาทดแทน ซึ่งสมาคมต้องประสานความร่วมมือจากหน่วยงานเครือข่ายทั้งรัฐและเอกชน ตรงนี้คาดว่านอกจากจะสามารถรักษาสมาชิกให้ยังไปต่อได้ จะทำให้มีบริษัทรายอื่นสนใจมาสมัครเป็นสมาชิก Thai Subcon เพิ่มมากขึ้นกว่า 100 ราย”

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างในการทำงานของ Thai Subcon ล่าสุดได้เพิ่มอุปนายกอีก 2 คน เพื่อให้มีคนทำงานที่ทันสถานการณ์ และเอาคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้เชิงเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มมากขึ้น จึงแบ่งกลุ่มส่วนหนึ่งตามคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการทำงานแบบเบ็ดเสร็จที่จะช่วยสร้างโอกาสการตลาดในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และพัฒนาสมาชิกให้มีความสามารถเพิ่มจนเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่นั้นด้วย

นอกจากนี้ยังเพิ่มหน้าที่ของอุปนายกสมาคมแต่ละคนให้ช่วยดูแลพื้นที่ประเทศเพื่อสร้างความร่วมมือหาโอกาสการตลาดและความร่วมมือทางเทคโนโลยีใหม่ๆจากประเทศที่อุปนายกแต่ละท่านรับผิดชอบดูแล แต่ก็ยังมีอุปนายกที่คอยดูแลสร้างโอกาสตลาดใหม่ ๆในภาพกว้างอยู่เหมือนเดิม รวมถึงอุปนายกที่ดูแลการพัฒนาขีดความสามารถของสมาชิก

“คาดหวังว่า ตามโครงสร้างใหม่นี้จะช่วยสร้างโอกาสในการจับคู่ทางธุรกิจให้สมาชิกได้มากขึ้น และในส่วนตามคลัสเตอร์อุตสาหกรรมก็เป็นความสนใจของสมาชิกที่ต้องการผลิตให้อุตสาหกรรมนั้นๆอยู่แล้ว ก็จะมีความรู้ที่จะคุยในภาษาเดียวกันกับผู้ซื้อซึ่งน่าจะทำให้การเจราจาจับคู่ธุรกิจง่ายขึ้น”

  • ครึ่งปีหลังเดินแผนจับคู่ทางธุรกิจ

นายชนินทร์กล่าวอีกว่า  ในครึ่งปีหลังของปี 2567 Thai Subcon จะจัดให้มีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจรูปแบบต่างๆให้สมาชิกอีกจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง ในธุรกิจอุตสาหกรรมการก่อสร้าง อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอากาศยาน เป็นต้น เป้าหมายหลักของกิจกรรมคือ สร้างโอกาสทางการตลาดในอุตสาหกรรมใหม่ๆให้กับสมาชิกเป็นหลัก จากนั้นเราจะทำการสำรวจข้อมูลความไม่สำเร็จในการจับคู่ธุรกิจของสมาชิกว่ามีสาเหตุปัญหาอะไรบ้าง เพื่อเราจะได้หาทางพัฒนาสมาชิกเพื่อแก้ไขปัญหาจุดอ่อนเหล่านั้นของสมาชิก คาดว่าจะมีสมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนไม่น้อยกว่า 300 ราย

  • โลกเปลี่ยนแข่งขันสูง

สำหรับการแข่งขันนับจากนี้ไป ไทยยังมีความได้เปรียบหลายด้าน  การรักษาความสามารถการผลิตที่มีคุณภาพมั่นคง คงที่ และการมีความยืดหยุ่นต่อลูกค้า ของผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย ตามที่ลูกค้าต้องการยังน่าจะเป็นจุดแข็งที่คู่ค้าให้ความสนใจทำธุรกิจกับคนไทย และประเทศไทยมีประสบการณ์เป็นแหล่งผลิตสินค้าที่มีความเที่ยงตรงสูงมาเป็นเวลายาวนาน รวมถึงจุดที่ตั้งโรงงานของไทยไม่มีปัญหาจากภัยธรรมชาติ ไม่มีปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าและน้ำ

แม้แต่ที่ผ่านมามีโรคระบาดโควิด โรงงานของผู้ประกอบการไทยก็ยังสามารถผลิตสินค้าให้ลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามสมาชิก Thai Subcon ก็จำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง แสวงหาทักษะเทคโนโลยีใหม่ๆ และที่สำคัญมากในโอกาสต่อไปคือ การทำธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมาก ๆ ยิ่งขึ้นด้วย

  • จับมือสู้คู่แข่งจีน

ต่อคำถามว่าภาพรวมเศรษฐกิจปี 2567 นี้ เศรษฐกิจยังซบเซาและต้องมาเจอกับการแข่งขันที่สูง นายชนินทร์ยอมรับว่า ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา และมีความผันผวน ย่อมมีผลกระทบต่อยอดขายกิจการของสมาชิกThai Subcon และยังมีคู่แข่งจากประเทศจีนเข้ามาแข่งขันอย่างมากอีกด้วย ทำให้นอกจากลูกค้ารายที่มีอยู่ลดจำนวนการสั่งผลิตเนื่องจากตัวลูกค้าเองก็ยอดขายลดลงแล้ว ปัจจุบันยังมีคู่แข่งจากจีนมาแย่งลูกค้าในตลาดที่สมาชิกพยายามแสวงหาอีกด้วย

จากภาวะดังกล่าว Thai Subcon จึงมุ่งชักชวนให้สมาชิกหันมาทำเรื่องหลัก ๆ 2 เรื่องคือ  

1.หันมาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการทำธุรกิจของตนเอง ตั้งแต่การพยายามนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพ(Productivity) การประหยัดพลังงาน และการทำวิจัยและพัฒนาการผลิตและผลิตภัณฑ์ 

2.แสวงหาโอกาสการตลาดในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และหวังตลาดจากความต้องการของภาครัฐ หรือกิจการที่รับสัมปทานจากรัฐ ที่น่าจะมาช่วยสนับสนุนสมาชิก ผู้ประกอบการไทย ให้สามารถไปต่อได้ หรือเติบโตต่อไปได้ เช่น เครื่องมือแพทย์ รถบัสโดยสาร และแม้แต่รถไฟฟ้าระบบรางที่ยังต้องเพิ่มจำนวนอีกมาก

  • ปัจจัยลบยังจ่อคอหอยเพียบ

นอกจากนี้ ปี 2567 ผู้ประกอบการไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบที่น่ากังวลคือ

1.ปัญหาจากการเมืองที่ทำให้งบประมาณปี 2568 ล่าช้าออกไปอีก จะเป็นปัจจัยซ้ำเติมต่อเศรษฐกิจไทยมาก

2.การเข้ามาค้าขายในตลาดชิ้นส่วนอุตสาหกรรมในอาเซียนของจีน ที่ภาครัฐเปิดกว้างอย่างมากในการเข้ามาของนักธุรกิจจีน

3.ภาวะสงครามในต่างประเทศที่ยังยืดเยื้อ จะดึงเวลาภาวะเศรษฐกิจซบเซาออกไปอีก และหวั่นจะมีการขยายพื้นที่ออกไปอีก หากมีการขยายตัวยิ่งซ้ำเติมมากขึ้น

4.การปรับตัวระบบการศึกษาของไทยไม่ทันต่อความต้องการของนักลงทุน จะทำให้การลงทุนไม่เพิ่มและอาจจะหนีไปลงทุนที่อื่นแทน

5.ภาวะอากาศแล้ง อาจทำให้ผลผลิตเกษตรออกมาน้อย จะมีผลกระทบต่อกำลังซื้อในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องไฟฟ้า 

6.ปัญหาคอรัปชั่นที่มากขึ้นในสายตาต่างชาติจากการจัดอันดับของสากล การบังคับใช้กฎหมายของไทยที่อ่อนแอลง ทำให้การลงทุนไม่เข้ามา

ส่วนปัจจัยบวก  ยังคาดหวังว่า ครึ่งปีหลังของปีนี้จะมีงบลงทุนของรัฐบาลจากงบประมาณปี 2567 และ 2568 ออกมา น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น หวังว่ายอดขายรถปิกอัพจะเพิ่มมากขึ้นทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัว  ส่วนการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จากนักลงทุนต่างชาติของไทย น่าจะทำให้สร้างโอกาสแก่สมาชิก Thai Subcon มากขึ้น ขณะเดียวกัน ยอดขายรถยนต์ที่มากขึ้นในภูมิภาคอาเซียน ก็น่าจะทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยมีโอกาสมากขึ้นด้วย